Beyond Study Center เราให้คำปรึกษาการศึกษาต่อทุกระดับ สมัครเรียน ทำวีซ่า จองตั๋วเครื่องบิน ดูแลตลอดการเดินทาง

5 bad habits that stop you from improving your English skills

5 bad habits that stop you from improving your English skills หลังจากได้เรียนและสอนภาษาอังกฤษมาหลายปี ผมพบว่ามีหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษกันยาก
เรื่องหลักๆ ก็คือทัศนคติในการเรียนภาษาอังกฤษที่เรามีกันที่ขัดขวางการเรียนรู้ของเราเอง โดยเฉพาะสำหรับเด็กไทยที่เรียนภาษาอังกฤษในไทยค ผมสรุปมาให้ 5 ข้อดังนี้ครับ

1) กระแดะ

ว้าย เธอ ดูคนนั้นพูดสิ กระแดะจริงๆ / หมอนี่ออกเสียงชัดไปป่าววะ คนไทยฟังไม่รู้เรื่องเฟ้ย 55 /  นึกว่ามันพูดกับฝรั่งอยู่หรือไง /

คำวิจารณ์ต่างๆ เหล่านี้ อาจจะได้ยินกันเรื่อยๆ หากมีคนมาพูดอังกฤษแบบดูสำเนียงเยอะๆ หน่อยใกล้ๆ

ผมบอกนักเรียนผมอยู่เสมอว่าคำว่ากระแดะนี่เป็นคำที่เราใช้กันผิดที่ผิดทางพอสมควร คือต้องแยกว่ามีคนกระแดะใช้ภาษาอังกฤษแบบใช้เพื่ออวดภูมิ เพื่อบอกว่าตัวเองนั้นเก่ง ใช้ไม่ถูกกาลเทศะ ไม่ถูกสถานการณ์

กลับกันในห้องเรียนหรือสถานการณ์ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษจริงๆคนที่เค้าพูดถูก หรือพยายามพูดให้ถูก ผมว่าน่าชื่นชมมากกว่าครับ

คือที่ตรงนี้มันสำคัญเพราะว่ามันทำร้ายทั้งคน ที่กำลังเรียนภาษา คือโดนเพื่อนว่าว่ากระแดะก็พาลอยากหยุด หยุดเรียน ท้อใจ กลับกัน คนที่ไปล้อเค้านี่ก็จะไม่กล้าพูดเหมือนกันเพราะก็เคยไปล้อเค้า ถ้าถึงเวลาต้องพูดจริงๆ ก็คงยิ่งตะขิดตะขวงใจที่จะพูด

2) กลัวผิด

ไม่กล้าพูดอะค่ะ กลัวพูดผิด / พูดผิดแล้วมันดูไม่ค่อยฉลาดอะครับ / ถ้าพูดผิดแล้วเพื่อนจะล้อ 

สุภาษิตไทยที่ใช้ได้ดีกับสถานการณ์นี้คือ “ผิดเป็นครู” ครับ ในการเรียนภาษาเราเรียนได้บ้างจากการท่องจำ แต่เราเรียนได้เยอะกว่ามากกกก จากการใช้จริง
หากเราไม่กล้าพูด ไม่กล้าเขียน คนสอนเค้าก็ไม่รู้จะไปช่วยแก้ไขอะไรให้ยังไง เพราะไม่รู้ผิดตรงไหน

สิ่งที่ต้องทำในการเรียนภาษาอังกฤษที่ผมแนะนำมากกว่าคือ ผิดได้ แต่พยายามหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเดิมๆ

ผมไปเรียนภาษาที่ออสเตรเลีย (เรียนแบบ Academic เลยเขียน essay เยอะ) เขียนแรกๆ ก็ตัวแดงเต็ม อ.ให้แก้ไปให้ ก็ยังแดงอีกเยอะ

ผิดบ่อยแค่ไหนยังไง อ.ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่พอเราผิดบ่อยๆขึ้นสิ่งที่เราจะเลิกกลัวคือการทำผิด (เพราะผิดจนชิน) และสิ่งที่เราจะไม่อยากทำคือการทำผิดซ้่ำๆ ครับ 
พอติดเป็นนิสัย เราก็จะผิดน้อยลงและหาทางแก้ไขให้ตัวเอง มันก็ค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับครับ 🙂

ปล. ในส่วนนี้โทษผู้เรียนอย่างเดียวก็ไม่ถูก ผมเองก็เจอน้องๆ หลายๆ คนที่บอกว่าไม่อยากพูดภาษาอังกฤษก็เพราะผู้สอนบางคนที่ เอาแต่ทำให้เด็กเป็นตัวตลกเวลาทำผิด ซึ่งส่วนตัวผมว่าไม่ใช่วิธีที่ช่วยให้เด็กมีการพัฒนาสักเท่าไหร่ กลับกันยังไปทำให้เค้าหมดกำลังใจในการเรียนรู้ไปเสียด้วยซ้ำไปเพราะกลัวโดน หาว่าโง่ หาว่าไม่รู้
ก็เพราะไม่รู้นั่นแหละเลยต้องฝึก แต่ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปทำให้ใครรู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กลง รู้สึกอับอายในการสอน

3) แกรมมาไม่ดี / ศัพท์ไม่รู้

เราปฎิเสธไม่ได้ว่าเราต้องใช้ทั้งแกรมมาและศัพท์ภาษาอังกฤษในการสื้่อสารไม่ว่าจะฟัง พูด อ่าน เขียน ครับ

เรื่องของเรื่องคือเราไม่ได้จำเป็นต้องมีแกรมมาและศัพท์ที่ซับซ้อนแบบคนทั่วไปไม่ เข้าใจ แต่เราต้องมีความรู้เกี่ยวกับทั้งสองเรื่องนี้บ้างพอสมควร โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นพื้นฐาน เพื่อทำให้การสื่อสารเป็นไปได้อย่างราบรื่น เข้าใจง่ายครับ

ดังนั้นที่ต้องเริ่มทำกันคือเรียนรู้ทั้งศัพท์และแกรมมา ถ้าคนที่ศัพท์น้อยจริงๆ ผมแนะนำว่าเริ่มจากการอ่านก่อนน่าจะดีที่สุด เพราะถ้าศัพท์ไม่รู้เลย เราได้ยินอะไรก็ใช่ว่าเราจะเข้าใจหรือนำไปใช้ได้ครับ และเมื่อศัพท์เยอะขึ้น อ่านเยอะขึ้น แกรมมาที่ได้จากการอ่านก็จะช่วยได้ไปโดยอัตโนมัติเช่นกัน

4) อยากพัฒนาเร็วๆ มากๆ

จริงๆ เป็นเรื่องดีนะครับ ซึ่งผมแนะนำอยู่เสมอว่าการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย จับต้องได้ และมีเวลากำหนดเป็นเรื่องดี แต่ทั้งนี้ต้องสมเหตุสมผลด้วยครับ

ผมเคยเจอคำถามว่า พี่ครับ สอนแบบนี้ผมว่ายากไป พี่มีอะไรที่จะทำให้ผมพัฒนาเร็วๆ มั้ยครับ คือเหมือนสูตรลัดน่ะครับ?

เอาจริงๆ ไม่มีครับ คือถ้าจะนึกออกก็คงเหมือน วุ้นแปลภาษา ในโดราเอมอน กินแล้วพูดได้เลยอะไรแบบนั้น

ผมเองเคยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้มาเป็น 20 ปี ทั้งที่เรียนกันมาตลอดตั้งแต่อนุบาล แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้แบบมีประสิทธิภาพ พูดง่ายๆ คือไม่กล้าใช้ ด้วยเหตุผลบางข้อที่กล่าวมาข้างต้นด้วยครับ

ในเมื่อเราพูดกันไม่ได้ มาตั้งหลายปี อย่าไปคาดหวังว่าเราจะพัฒนาเร็วมาก เดือนเดียวพูดได้คล่องเป็นฝรั่งเลย อันนี้ทำได้ยากฝุดๆ ดังนั้นควรตั้งเป้าให้สมเหตุสมผล และวางแผนว่าจะทำยังไงให้ไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ หาวิธีที่ทำให้เราฝึกได้ตลอด และไม่เบื่อ

วิธี ประเภทฟังข่าว CNN ทุกวัน แบบนี้ดีแน่นอน แต่ลองดูว่าตัวเองทำได้ยาวนานแค่ไหนยังไง ถ้าทำได้ทุกวันภาษาพัฒนาแน่นอน แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าจะทำได้ แนะนำว่าหาวิธีที่เราจะชอบและทำได้บ่อย ดูหนัง ฟังเพลง ทำกิจกรรมต่างๆ แล้วแต่เราชอบ และค่อยๆ ทำไป อย่าไปกดดันอย่าไปเร่งตัวเอง เรียนและพัฒนาและให้ตัวเองมีความสุขด้วยครับ

5) ไม่มีเวลา

ผมเองเคยอ้างแบบนี้ประจำครับ ไม่มีเวลาไปเรียนเลยทำงานมาทั้งวันเหนื่อยนะ พอหาเวลาเรียนได้บ้างก็ไม่ทบทวน (คือเอาจริงๆถ้าเรียนและไม่ทวน มันก็ไม่ไปไหนเท่าไหร่ ยิ่งถ้าเราเรียนแบบ part-time สัปดาห์นึงสัก 2 วันอะไรแบบนี้) ผมก็อ้างต่อไปอีกว่า เหนื่อย งานเยอะ รถติด งานเครียด นุ่นนี่นั่นโน่น สุดท้ายผลก็ออกมาว่าภาษาเราไม่ไปไหน

ทั้งนี้ตอนนั้นผมก็ยังมีเวลาไปเที่ยว กับเพื่อน ไปทานข้าว ไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ 
ณ ตอนนั้นเราก็ได้แต่คิดว่า โอ้ ภาษาอังกฤษนี่ยากจัง เวลาเราน้อยจัง สารพัดจะอ้าง (ยกเว้นโทษตัวเอง 555)

ย้อนนึกไปมองตัวเองก็พบว่าเรามีทัศนคติที่ขัดขวางในการเรียนภาษาหลายๆ อย่าง เหมือนกันนะ (เลยเอาประสบการณ์ของคนที่เคยคิดแบบนี้มาแชร์ให้ฟัง จะได้ไม่ทำซ้ำ ) 
เวลาเรามีเท่ากันทุกคนในแต่ละวัน แค่อยู่ที่ว่าเราจะแบ่งให้อะไรแค่ไหน เราจริงตังกับการพัฒนาภาษาแค่ไหน 
สมมติเราตั้งเป้าหมายว่า ในปีนึงเราต้องพูดภาษาอังกฤษได้ และไม่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารในเนื้อหาทั่วๆ ไป เป็น priority แรกของเป้าหมายในปีนั้น เราก็มาดูว่าเราจะจัดเวลาให้ประมาณกี่ % ของเวลาที่เรามีครับ

โดยสรุปนี่คือทัศนคติที่ขัดขวางการเรียนรู้ด้าน ภาษาอังกฤษของเราพอสมควรจากประสบการณ์ของผมที่เคยเจอมาและเคยเป็นเองบ้าง ด้วย 55 
ปัจจุบันที่ตัวเองใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับที่ตัวเองพอใจแล้ว ก็เลยขอนำมาเตือนน้องๆ ที่กำลังเรียนภาษาว่าอย่าทำแบบนี้ เลยจะได้เรียนและพัฒนาภาษาได้เยอะๆ กันครับ

 

Written by zgamez @Thaiwahclub&Beyondstudy

Updated by Vnuch l Online Marketing & Graphic Designer l Beyond Study Center l June 2014

อ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆ คลิก