Beyond Study Center เราให้คำปรึกษาการศึกษาต่อทุกระดับ สมัครเรียน ทำวีซ่า จองตั๋วเครื่องบิน ดูแลตลอดการเดินทาง

คุณเนล ประสบการณ์ Work and Holiday กับงานด้านสถาปัตย์ใน Melbourne

คุณเนล สถาปนิกสาวชาวไทย กับการทำงาน Professional Career ในออสเตรเลีย

คุณเนล สถาปนิกสาวชาวไทยใน Melbourne ที่ได้ทำงานตรงสายกับที่เรียนปริญญาตรีในไทยมา ด้วยวีซ่า Work and Holiday บทความนี้จะบอกเล่าเรื่องของสาวไทยคนนี้ถึงการเริ่มต้นไปทำงานในต่างแดน

 

ทำงานสถาปนิกกับวีซ่า work and holiday
คุณเนล สถาปนิกสาวชาวไทย กับการทำงาน Professional Career ในออสเตรเลีย

 

“มันเริ่มจากเรารู้สึกว่างานที่ทำอยู่มันมีข้อจำกัดบางอย่าง เราทำงานในบริษัทต่างชาติก็จริง แต่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทย เราเลยอยากเรียนรู้ อยากเจออะไรใหม่ๆ การทำงานระดับอินเตอร์ อยู่ในสังคมของชาวต่างชาติ อยากเรียนรู้ระบบความคิด การจัดการ อยากเปิดโลกให้ตัวเองว่ามันต่างกับที่ไทยอย่างไร”

เนลให้สัมภาษณ์กับทาง Thaiwahclub เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นการเดินทางของเธอ เธอเล่าให้ทางเราฟังว่าเนลมีความถนัดและชอบในอาชีพนี้อยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะหางานด้านนี้ได้หรือไม่ เพราะก็ไม่ได้มั่นใจในภาษาอังกฤษของตัวเองมากนัก

“ตอนแรกก็ไม่คิดจะเรียนภาษาเลย ตั้งใจว่าอยากเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านประสบการณ์มากกว่า เรามองว่าเราเลยวัยจะเรียนภาษาอังกฤษพื้นฐานแล้ว เรียนมาตั้งแต่เด็กแต่ยังไม่ค่อยได้ใช้จริงเลย เลยคิดว่าลองไปตายเอาดาบหน้าดูแล้วกัน ลองหาข้อมูลดูว่าไปที่ไหนได้บ้าง พอดีมาเจอโครงการนี้ (Work and Holiday) และพอดีว่าพี่ชายอยู่ที่นี่ (Melbourne) ด้วย คุณแม่ก็เลยสบายใจที่จะให้เราที่เดินทางมาด้วยตัวเอง”

หลังจากที่ยื่นเอกสารและได้รับวีซ่าเรียบร้อยแล้ว เนลก็ใช้เวลา 3 เดือนในการเตรียมตัว

สุดท้ายตอนอยู่ไทย เนลได้ส่ง Portfolio และ Resume สมัครงานด้านสถาปัตย์ที่ตัวเองเรียนและทำงานมา เพราะไม่อยากทิ้งความฝันและงานด้านที่ตัวเองรัก แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีที่ไหนรับสมัครสักที เวลาก็หมดไปเรื่อยๆ ความหวังที่จะได้งานตั้งแต่ก่อนไป Melbourne ก็ดูน้อยลงไป

“เราคิดว่าเป็นเพราะตอนเรายังอยู่ที่ไทยทำให้เขาติดต่อยากด้วย จนสุดท้ายเรารอไม่ไหว เลยตัดสินใจว่ามาก่อนแล้วค่อยหางานเอาทีหลัง ช่วงแรกๆก็คือยื่นใบสมัคร ส่งอีเมล เดินเข้าไปสมัครตามออฟฟิศ (เรียกว่าทำทุกทาง) จนมาได้งานแรกอยู่แถว Caulfield เป็นสัญญา 2 เดือน แต่ว่าไกลจากบ้านที่อยู่ตอนนั้นมาก ตอนนั้นก็คิดว่าทำเอาประสบการณ์ไปก่อน จนทำงานครบ 2 เดือน เขาอยากจะต่อสัญญากับเรา แต่ว่าบริษัทที่ที่เราทำอยู่ปัจจุบันเขาเรียกสัมภาษณ์พอดี แล้วเขาเสนอเงินให้เยอะกว่า ใกล้บ้านมากกว่า แล้วตัวงานดูสนุกกว่าด้วย เราก็เลยตัดสินใจย้ายมาทำที่นี่แทน”

 

ทำงานสถาปนิกกับวีซ่า work and holiday

 

งานในบริษัทที่เนลทำอยู่ปัจจุบันก็ยังคงเป็นงานด้านสถาปัตย์ที่ตัวเองชอบ โดยมีค่าแรงอยู่ที่ $27 ต่อชั่วโมง (729 บาทโดยประมาณ) โดยคุณเนลทำงานอยู่แผนก Design Develop ซึ่งเนื้อหาในการทำงานคล้ายคลึงกับงานที่เคยทำที่ไทย แต่ว่ามีความแตกต่างกันในเรื่องของโครงสร้างอาคาร ตรงกับความตั้งใจที่อยากจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และได้มีโอกาสทำงานกับเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติจริงๆ ซึ่งเมื่อทำงานครบตามเงื่อนไข 6 เดือนของวีซ่า ทางบริษัทก็ยังอยากให้เนลทำงานต่อให้กับบริษัท

“คิดว่าเขาคงเห็นอะไรในตัวเนลซักอย่าง คืองานด้านนี้มันต้องพยายามนำเสนอตัวเอง เสนอความคิด อาจจะต่างจากงานด้านอื่นๆ ที่ทำงานตามระบบและขั้นตอนที่เป็นแบบแผน แต่เพราะงานดีไซน์มันคือต่างคนต่างความคิด แล้วคนที่ในออฟฟิศก็เป็นคนที่นี่ (ออสเตรเลีย) หมดเลย ถ้าเราไม่พยายามแสดงความสามารถก็อาจจะลำบาก”

 

นายจ้างว่ายังไงต่อกันบ้างหลังหมดเวลา 6 เดือนตามเงื่อนไขวีซ่า? มีเสนอทางเลือกอะไรให้เรามั้ย?

“ตอนแรกเขาก็เสนอว่าจะช่วยทำ PR (Permanent Residency :สิทธิประชากรถาวรในประเทศออสเตรเลีย) ให้ แต่เนลรู้สึกว่าภาษาอังกฤษเรายังดีไม่พอ เพราะการขอPR ที่นี้เราต้องสอบใบประกอบวิชาชีพสถาปนิกของที่นี่ด้วย หรือถ้าเขาจะ Sponsor เรา ก็ไม่คุ้มกับที่บริษัทต้องมาเสียเงินเพื่อจ้างคนๆเดียวเป็นจำนวนเงินมากๆ

สุดท้ายเราเลยตัดสินใจว่าจะต่อเป็นวีซ่านักเรียน เพราะอยากพัฒนาภาษาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม ตั้งใจว่าจะใช้สมัครทุนและเรียนต่อปริญญาโท ที่ทำงานเขาก็ช่วยเราเยอะ ให้ทำพาร์ทไทม์เพื่อไปเรียนตามกติกาของวีซ่านักเรียน ทำให้เราสามารถเรียนและยังทำงานต่อได้”

 

กลายเป็นว่าปัญหาแรกๆของการทำงานไม่ใช่เรื่องของภาษา แต่ว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรมและทัศนคติในการทำงานที่ต่างกันของคนไทยและคนต่างชาติ

“พอเขารู้ว่าเนลเป็นคนต่างชาติเขาก็พยายามทำความเข้าใจนะ คือตัวเนลเองอาจจะไม่ได้ภาษาอังกฤษมากจนเรียกว่าเก่ง แต่ในการทำงานนั้น
ภาษาของสถาปัตย์มันก็มีศัพท์เฉพาะที่เราใช้มาตั้งแต่ตอนเรียนจนมาทำงานเลยไม่ได้ลำบากมากนัก แต่ด้วยความที่ลักษณะนิสัยของเด็กไทยที่ส่วนใหญ่อาจจะขี้อาย ไม่ค่อยกล้าเสนอความคิด ไม่กล้าออกความเห็น เราก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นแบบนี้ ตรงนี้ก็เลยอาจจะเป็นเรื่องแรกๆที่ต้องปรับตัวกันเยอะ”

 

ทำงานสถาปนิกกับวีซ่า work and holiday

 

คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เด็กไทยส่วนหนึ่งไม่มั่นใจ ไม่กล้าแสดงความเห็นกันในที่ทำงาน เราเองเจอปัญหาแบบนี้มั้ยในการทำงานในออสเตรเลีย?

“เท่าที่ทำงานมา สังคมไทยจะมีเรื่องของอายุ ความอาวุโส (seniority) เข้ามาคาบเกี่ยวด้วย ช่วงแรกตัวเนลเองก็ยังติดวัฒนธรรมองค์กรจากที่ไทยมา เลยจะไม่กล้าคอมเมนท์งานคนอื่นว่าดีหรือไม่ดียังไง แต่พอหลังๆปรับตัวได้ เพราะวัฒนธรรมที่นี่คือใครคิดแบบไหนก็เสนอออกมา แล้วสุดท้ายเราก็จะมาเลือกทางที่ดีที่สุดกัน แต่ถ้าเป็นที่ไทยคือบางทีเราเสนอความคิดเห็น จะดูเหมือนการเถียงผู้ใหญ่”

 

เพื่อนๆในที่ทำงานมีส่วนช่วยในการปรับตัวมั้ย ยังไงบ้าง?

“เพื่อนร่วมงานที่ออฟฟิศก็บอกว่าเราต้องแสดงความคิดเห็นนะ เราเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องแก่กว่าหรืออ่อนกว่า คนเรามีประสบการณ์มาไม่เหมือนกัน เจออะไรมาไม่เหมือนกัน หลังจากนั้นคือมั่นใจมากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็น เราว่าเป็นข้อเสียของเด็กไทยที่ไม่กล้าเสนอความคิด เพราะว่าพอเราแสดงความคิดเห็นอะไร ส่วนใหญ่ก็ชอบบอกว่าผิด-ถูก แต่ที่นี่เขาจะประมาณว่า ความคิดเห็นคุณก็ดีนะแต่ว่าลองฟังความคิดเห็นของคนอื่นก่อน แล้วนำมาปรับเพื่อที่จะหาทางที่ดีที่สุด”

 

นอกจากเรื่องของการปรับตัวในการทำงาน อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องของการใช้ชีวิต มีต้องปรับอะไรบ้าง?

“ปรับตัวเยอะเหมือนกัน คนที่นี่ค่อนข้างมีโลกส่วนตัวสูง เช่น เวลากินข้าวก็คือกินของใครของมัน แยกกันไป เวลาทำงานก็จะเงียบ ไม่ค่อยเล่นกัน ทำงานคือทำงาน เล่นคือเล่น เพื่อนร่วมงานส่วนมากก็เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว หลังเลิกงานก็กลับบ้านอยู่กับครอบครัว หรือต่อให้เราอยู่กับพี่ชายก็จริง แต่พี่ปล่อยให้เราใช้ชีวิตด้วยตัวเอง มันก็มีเหงาบ้าง แต่ก็ต้องพยายามใช้ชีวิตให้มีความสุขด้วยตัวเอง”

 

เพราะว่าลงทุนกับตัวเองมาเยอะ ในอนาคตถ้าหากว่ามีโอกาสก็อยากจะลองไปที่ประเทศอื่นๆดูบ้าง?

“คือการเรียนสถาปัตย์ต้นทุนค่อนข้างสูง พ่อแม่เราก็จ่ายมาให้ตลอด อย่างน้อยถ้าเราจะเรียนต่อ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากใช้ทุนพ่อแม่แล้ว ถ้าได้ทุนเรียนที่อื่น ก็อาจะจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย หรือถ้าจะต้องจ่ายเอง เราก็อาจจะเรียนต่อที่นี่อย่างน้อยเราก็มีงานทำระหว่างที่เราเรียนไปด้วย”

 

ท้ายที่สุดแล้วความตั้งใจคืออยากจะกลับบ้าน เพื่อไปทำอะไรให้บ้านเราดีขึ้น

“ความตั้งใจสุดท้ายของเนลคือกลับไทย คือหลายคนบอกว่าจะกลับไปทำไม กลับไปก็ไม่ได้อะไร แต่ถ้าเราคิดแบบนั้นทุกคน บ้านเราก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น คือเราอยากกลับไปเป็นอาจารย์พิเศษแล้วก็อยากมีออฟฟิศเล็กๆของตัวเอง เราสนใจ Urban design เรื่องการออกแบบผังเมือง เลยตั้งใจจะเรียนต่อปริญญาโทด้านนี้ ตอนนี้เรามองว่าเราได้ออกมาเปิดโลก ดูสิ่งที่ดีๆ อยู่ในเมืองเจริญแล้ว อยากจะเรียนรู้ เก็บประสบการณ์ อย่างน้อยก็อยากกลับไปทำอะไรให้บ้านเราดีขึ้นบ้าง อยากเห็นเมืองไทยมีอะไรดีๆแบบที่นี้ด้วย”

 

เรามองตัวเองว่าจะทำอะไรบ้างในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า (ระยะสั้น) และอีก 5 ปีข้างหน้า (ระยะยาว)

“ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เนลวางแผนจะเรียนต่อปริญญาโท ด้านการออกแบบผังเมือง (Urban Design) และหลังจากเรียนจบคงกลับไทย ทำตามความตั้งใจที่อยากจะเป็นอาจารย์พิเศษ และเริ่มทำออฟฟิศของตัวเอง”

 

ตอนนี้ชีวิตก็ค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว ถ้าย้อนกลับไปมองคิดว่ามีช่วงไหนที่หนักที่สุดในการมาออสเตรเลีย?

“การได้เข้าไปทำงานที่เราชอบ และเราตั้งใจไว้ได้แล้ว เหมือนเราชนะตัวเองมาระดับหนึ่ง สำหรับเนลช่วงที่คิดว่าหนักที่สุดคือว่าคือช่วงการเริ่มต้นทำงาน ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน ปรับตัว และผลักดันตัวเองเยอะมากๆ เราได้โอกาสมาแล้ว ต้องทำให้ดีที่สุด

ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่หนักอีกช่วงหนึ่ง เนื่องจากทำงานและเรียนไปด้วย ต้องแบ่งเวลาดีๆ เพื่อไม่ให้เสียทั้งเรื่องงานและเรื่องเรียน และที่สำคัญต้องมีเวลาพักผ่อนให้ตัวเองด้วยค่ะ (work-life balance)”

 

ทำงานสถาปนิกกับวีซ่า work and holiday

 

ช่วงที่หางานไม่ได้มีท้อ มีกังวลบ้างไหน จัดการกับความกังวลนั้นอย่างไร?

“เนลตั้งโจทย์ในการหางานของตัวเองค่อนข้างยาก กังวลไม่ใช่น้อยเรื่องการหางาน เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะได้เข้าไปทำงานในบริษัท อีกทั้งยังข้อจำกัดของวีซ่าที่กำหนดระยะเวลา การทำงานแค่ 6 เดือน แต่ไม่เสียหายอะไรที่เราจะลองดู คิดว่าสุดท้ายถ้าไม่ได้ทำงานด้านสถาปัตย์ ก็ไม่เป็นไรเพราะอย่างน้อยเราก็ได้ลองแล้ว

เพราะฉะนั้นในช่วงหางาน เรื่องความท้อต้องมีอยู่แล้ว เรามักจะเกิดคำถามขึ้นมากับตัวเองตลอดว่า “ทำไมถึงไม่มีใครติดต่อกลับมาซักที” จนเราเริ่มรู้สึกท้อ แต่เนลจัดการด้วยการพยายามไม่กดดันตนเอง ให้กำลังใจตัวเองว่าเราตั้งใจและทำดีที่สุดแล้ว ให้ระยะเวลากับการหางานและรอสัมภาษณ์งาน ที่สำคัญต้องมีแผนสำรองไว้ ถ้าไม่ได้งานที่อยากได้ภายในเวลาที่เราวางแผนไว้ เรายังมีแผนสำรองว่าเราจะทำอะไรต่อ หรือหางานอื่นที่เราคิดว่าเราพอจะทำได้”

 

มีอะไรจะฝากถึงน้องๆ ที่ตั้งใจหางานกันอยู่บ้าง?
“เนลเชื่อว่า น้องๆทุกคนมีความสามารถที่จำเพาะของตนเอง เพราะฉะนั้นน้องๆอยากได้งานแบบไหน อยากทำงานอะไร ชอบอะไร และมั่นใจว่าเราทำได้ ดึงความสามารถของตัวเองออกมา แล้วลงมือทำ ที่สำคัญอย่าดูถูกตัวเองและกล้าที่จะลองทำอะไรที่ใหม่ๆ”

 

หลังจากอ่านจบแล้วคงต้องบอกว่า “ความพยามยามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆโดยไม่พยายาม ถ้าวันนั้นคุณเนลไม่พยายามหางานที่ตัวเองอยากทำ รวมถึงหลังจากได้งานแล้วก็ยังไม่ลดละในการพัฒนาตัวเอง ให้บอสเห็นถึงความสามารถและความพยายาม คุณเนลก็อาจจะไม่ได้มาถึงจุดๆนี้ เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ไป WAH และพยายามหางานอยู่ อย่าเพิ่งยอมแพ้ โอกาสนั้นอาจจะกำลังมาแล้ว

ติดตามข่าวสาร สาระความรู้ รวมถึงบทสัมภาษณ์ประสบการณ์ของเด็ก WAH ต่อได้ทางเว็บไซต์ Beyond Study Center และ ThaiWahClub หรืออยากรู้อะไรก็สามารถทักเข้ามาถามทาง Inbox Facebook ของ Beyond Study Center และ ThaiWahClub ได้เช่นกัน ทีมงานพร้อมรอตอบคำถามและให้คำปรึกษาเสมอ 🙂