Beyond Study Center เราให้คำปรึกษาการศึกษาต่อทุกระดับ สมัครเรียน ทำวีซ่า จองตั๋วเครื่องบิน ดูแลตลอดการเดินทาง

ทำความเข้าใจภาษีการทำงานสำหรับวีซ่านักเรียนในออสเตรเลีย

    หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบว่าวีซ่านักเรียนในออสเตรเลียก็สามารถทำงานได้ด้วยนะ แต่นอกจากข้อกำหนดด้านชั่วโมงการทำงานแล้ว บทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงภาษีจากการทำงานกันบ้าง

    สำหรับวีซ่านักเรียนออสเตรเลียแล้วสามารถทำงานได้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์ (ประมาณ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และไม่ได้จำกัดประเภทของงานที่ทำ คืออยากทำงานบริการก็ได้หรือเป็นงาน professional ในบริษัทเลยก็ได้

    ทีนี้เราลองมาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรเกี่ยวกับภาษีที่เราควรรู้ก่อนเริ่มทำงานในออสเตรเลียบ้าง

  • Financial Year

    ปกติที่ออสเตรเลียจะมีสิ่งที่เรียกว่า ปีภาษี หรือ Financial Year’ ซึ่งปีภาษีของออสเตรเลียเริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ไปจนถึง 30 มิถุนายน ปีถัดไป เช่น ปีภาษี 2019-2020 คือช่วงเวลา 1 ก.ค. 2019 – 30 มิ.ย. 2020 ดังนั้นภาษีที่คิดก็คือภาษีจากการทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวนี้

  • Tax Season

    ศัพท์อีกคำที่ควรรู้คือ ‘Tax Season’ คือระยะเวลาที่ให้เราแจกแจงรายได้ทั้งหมดที่เราได้รับระหว่างปีภาษีนั้นๆ โดยเริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม จนถึง 31 ตุลาคม ในปีเดียวกัน อย่างเช่น Tax Season ของปี 2020 คือระยะเวลา 1 ก.ค. 2020 – 31 ต.ค. 2020

  • Tax Free Threshold

    ช่วงยกเว้นภาษี ซึ่งมีให้เฉพาะวีซ่าบางประเภท ในกรณีที่เราได้ tax free threshold นั้น จะได้ยกเว้นภาษีสำหรับรายได้สำหรับ AU$18,000 แรกของปีภาษีนั้นๆ

  • Tax Residency Status

    สถานะ Tax Residency แตกต่างกันไปตามประเภทของวีซ่าและคุณสมบัติอื่นๆ หากถือวีซ่านักเรียนและพักอาศัยที่เดียวเกิน 6 เดือน โดยทั่วไปจะถือว่ามีสถานะเป็น resident for tax purpose

    กรณีที่ไม่ได้มีสถานะเป็น resident for tax purpose ก็อาจจะไม่มี tax free threshold ให้ด้วย ทำให้ต้องเสียภาษีอีกเรทนึงไปเลย

    สามารถตรวจสอบสถานะ Tax Residency ของตัวเองได้ทางลิงก์ Residency tests for tax purposes

  • PAYG

    PAYG หรือเรียกเต็มๆว่า Pay-as-you-go สามารถเรียกได้อีกชื่อคือ PAYE หรือ Pay-as-you-earn tax คือเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย (withholding tax) ที่นายจ้างจะหักจากค่าจ้างก่อนที่จะจ่ายให้เรา

  • Tax Return 

    หลังจากจบปีภาษีนั้นๆ สามารถตรวจสอบได้ว่า PAYG ที่ชำระไปเท่ากับภาษีที่ ‘ต้องเสียจริง’ หรือไม่ หากชำระน้อยไปให้ชำระเพิ่มตามจริง แต่ถ้าชำระเกินสามารถขอเงินจำนวนนั้นคืนได้ โดยปัจจุบันมีระบบขอคืนภาษีออนไลน์ ดำเนินเรื่องได้ทางเว็บไซต์ MyTax

  • Weekly Tax Table

    วิธีการเช็คว่าแต่ละสัปดาห์เราจะถูกหัก PAYG เท่าไหร่ สามารถดูได้ที่ตาราง Weekly tax table ในกรณีที่เรามีสถานะเป็น resident for tax purpose จะต้องดูตารางช่องที่มี tax free threshold ให้ด้วย (ตามตารางคือ ‘With tax-free threshold’)

    ยกตัวอย่าง สมมติเราได้ค่าจ้างด้วยเรทขั้นต่ำที่ AU$19.49 และทำ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะเท่ากับว่าเราได้รายได้ AU$389.8 ต่อสัปดาห์ ตามตารางแล้วเราจะต้องเสียภาษีสัปดาห์ละ AU$7 จากรายได้

    แต่สำหรับวีซ่า Work and Holiday จะแตกต่างกับวีซ่านักเรียน คือเสียภาษี 15% ตั้งแต่ดอลลาร์แรกที่ได้เลย และขอคืนไม่ได้ด้วย