Beyond Study Center เราให้คำปรึกษาการศึกษาต่อทุกระดับ สมัครเรียน ทำวีซ่า จองตั๋วเครื่องบิน ดูแลตลอดการเดินทาง

เทคนิคประหยัดค่าใช้จ่ายในออสเตรเลีย

เทคนิคประหยัดค่าใช้จ่ายในออสเตรเลีย

ค่าครองชีพในออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นในนปีหลังๆมานี้อาจส่งผลประทบกับน้องๆที่ไปเรียนหรือไปทำงาน วันนี้พี่ๆทีมงาน Beyond Study Center จะมาแชร์เทคนิค รัดเข็มขัดประหยัดกระเป๋าในออสเตรเลียให้กับน้องๆ เผื่อที่น้องๆจะสามารถนำข้อที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ไปปรับใช้ในชิวิตประจำวันให้มีเงินเก็บมากขึ้นค่ะ

น้ำก๊อกดื่มได้
ออสเตรเลียขึ้นชื่อว่าน้ำเปล่าที่ขายในรูปแบบขวดพลาสติกแพงติดอันดับโลก อย่างไรก็ตามน้ำก๊อกที่นี่ส่วนมากมักจะดื่มจากก๊อกได้เลย (ยกเว้นบางสถานที่ที่เค้ามีป้ายบอกว่าดื่มไม่ได้) ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อน้ำเปล่าที่ขายเป็นขวดเลยค่ะ เวลาจะออกไปข้างนอกบ้านก็เติมน้ำเปล่าใส่กระติกพกไปด้วยก็จะได้ไม่ต้องคอยหาซื้อน้ำดื่ม ตามสวนสาธารณะก็มีก๊อกสำหรับดื่มน้ำ/เติมน้ำฟรีด้วยค่ะ แต่ก็มีข้อควรระวังเช่นกันนะคะ เรื่องแรกคือเรื่องความสะอาดของก๊อกน้ำ เรื่องที่สองคือระบบน้ำตามบ้านในออสเตรเลียจะมีทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อนในก๊อกเดียวกัน เราสามารถดื่มได้เฉพาะน้ำเย็นนะคะ น้ำร้อนจะมีแร่ธาตุและโลหะต่างๆผสมมากับน้ำด้วยซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย (ที่มา) ส่วนใครที่ไม่กล้าดื่มน้ำจากก๊อกตรงๆสามารถหาเครื่องกรองน้ำมาใช้หรือต้มน้ำก่อนได้นะคะ ลดน้ำเปล่าขวดและน้ำหวานได้ประโยชน์ทั้งประหยัด ทั้งดีต่อสุขภาพ และยังสามารถลดขยะได้อีกด้วยค่ะ

ทำอาหารกินเอง
ค่าแรงการจ้างงานพนักงานที่ออสเตรเลียจัดว่าค่อนข้างสูงมาก ถึงแม้ว่าเวลาเราไปทำงานได้ค่าแรงสูง แต่ตอนเราไปใช้บริการอะไรที่ต้องมีพนักงงานเข้ามาเกี่ยวข้องเราก็ต้องจ่ายแพงเช่นกันค่ะ เวลาที่เราซื้ออาหารจากร้านค้าหรือนั่งกินที่ร้านราคาจะค่อนข้างสูง ขั้นต่ำจานละ 15-20 AUD แต่ถ้าเราซื้อเนื้อสัตว์และผักผลไม้มาทำอาหารเองจะประหยัดได้เยอะกว่ามาก เช่น เนื้อไก่กิโลกรัมละ 10-12 AUD บวกผักราคาตามฤดูกาล 2-10 AUD ก็สามารถทำอาหารได้ 4-6 มื้อเลยค่ะ ถือว่าประหยัดไปได้หลายเท่า การทำอาหารครั้งเดียวเผื่อไว้สำหรับหลายมื้อแล้วเก็บเข้าตู้เย็นก็จะได้ประหยัดไฟ ประหยัดแก๊ส ประหยัดเวลาในการทำอาหารค่ะ เวลาไปทำงานหรือไปเรียนก็เอาไปอุ่นกินได้ แต่การทำอาหารเองที่บ้านก็มีข้อควรระวังนะคะ เช่น การทำอาหารที่อาจจะมีเสียงดังหรือมีกลิ่นแรงรบกวนเพื่อนร่วมบ้าน และที่สำคัญเวลาทำอาหารอย่าปล่อยให้มีควันเยอะจน Fire alarm ดัง ถ้าปล่อยให้ดังไปเรื่อยๆหรือควันออกไปถึงบริเวณส่วนกลางได้ Fire alarm ของส่วนกลางจะทำงาน ทำให้รถดับเพลิงต้องมาตรวจดูพื้นที่ ซึ่งถ้าไม่ได้มีเหตุไฟไหม้จริงๆเราอาจจะโดนปรับ อย่างน้อยๆ 2,000-4,000 AUD ได้ค่ะ

ซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาล
ราคาผักผลไม้ที่นี่จะค่อนข้างแกว่งขึ้นลงตามฤดูกาล ผักชนิดเดียวกัน บางฤดูกาลราคา 1-2 AUD แต่บางฤดูกาลก็พุ่งไปถึง 5-10 AUD เลยค่ะ ดังนั้นถ้าเราเลือกซื้อผักตามฤดูกาลก็จะประหยัดเงินได้เยอะ หรือบางคนก็เลือกซื้อผักผลไม้นอกฤดูกาลแบบแช่แข็งแทนก็อาจจะได้ราคาที่ถูกกว่าแบบสดค่ะ

ทำงานร้านอาหารได้อาหารกลับบ้าน
นอกจากทำอาหารเองแล้ว น้องๆหลายคนเลือกที่จะทำงานที่ร้านอาหารซึ่งจะได้อาหารกินที่ร้านหรือเอากลับบ้าน 1-2 มื้อ ต่อชิฟ ทำให้ประหยัดค่าอาหารไปได้อีกส่วนนึงค่ะ

เลี่ยงเข้าร้านอาหารในวันหยุดพิเศษ
นายจ้างร้านอาหารในออสเตรเลียจะต้องจ่ายค่าแรงพนักงานที่มาทำงานในวันหยุดพิเศษแพงกว่าวันธรรมดา หลายๆร้านก็มักจะชาร์จค่าอาหารหรือค่าบริหารแพงขึ้นกว่าปกติมาก ถ้าเลี่ยงวันหยุดพิเศษไปกินวันธรรมดาแทนได้เราก็จะไม่ต้องจ่ายเงินในราคาที่สูงกว่าปกติค่ะ (บางร้านวันเสาร์-อาทิตย์ชาร์จแพงกว่าวันจันทร์-ศุกร์ก็มีค่ะ)

พกเงินสดติดตัวไว้บ้าง
ร้านอาหารหรือร้านค้าบางแห่งถ้ายอดซื้อไม่ถึงที่ร้านกำหนดไว้และถ้าเราต้องการจ่ายเงินด้วยบัตร อาจจะมีชาร์จค่าธรรมเนียมรูดบัตร 1-2% จากยอดซื้อด้วยค่ะ
ถ้าเลือกจ่ายเป็นเงินสดก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ และยังมีร้านอาหารหลายๆร้านที่ถ้าจ่ายเงินสดแทนบัตรก็จะมีส่วนลดให้ 5% ด้วยค่ะ

สินค้าหลายๆอย่างในร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง มีราคาสูงกว่าซูเปอร์มาเก็ต
ซูเปอร์มาเก็ต เช่น Coles / Woolworths / Aldi มีสินค้าหลายๆอย่างราคาถูกกว่าร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง มากๆค่ะ แต่ปกตแล้วซูเปอร์มาเก็ตเหล่านี้ปิดทำการไม่เกิน 4-5 ทุ่ม ต้องวางแผนเวลาไปซื้อของให้ดีเพราะบางคนกว่าจะเลิกเรียนหรือเลิกงานก็ 3-4 ทุ่มแล้ว อาจจะทำให้ไปซื้อของไม่ทันก็ต้องใช้บริการร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงแทน

ซูเปอร์มาเก็ตจัดโปรโมชั่นลดครึ่งราคา
Coles / Woolworths จัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้า 30-50% ตลอดทั้งปี และจะเปลี่ยนสินค้าที่เข้าร่วมโปรโมชั่นไปเรื่อยๆในทุกวันพุธของแต่ละสัปดาห์ ดังนั้นถ้าเห็นว่าสินค้าที่เราต้องใช้อยู่แล้วและต้องใช้ไปนาน เช่น ข้าวสาร สบู่ ยาสระผม น้ำยาซักผ้า ก็อาจจะซื้อมาเก็บไว้ก่อนหลายอันได้ค่ะ ถ้าค่อยไปหาซื้อตอนที่ของกำลังจะหมดก็อาจจะไม่ได้ราคาโปรโมชั่นแล้ว 

ดูราคาที่ per mL หรือ per g แทนราคาของตัวสินค้า
Coles / Woolworths เค้าจะมีป้ายราคาสินค้าที่มีบอกว่าสินค้าแต่ละนี้ราคาเท่าไหร่ ต่อ กรัม/ลิตร เป็นตัวเล็กๆอยู่ด้านล่างให้ได้ด้วยค่ะ ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาคำนวณเองว่าราคาต่อปริมาตรของสินค้าชิ้นไหนถูกกว่ากัน ลองเปรียนเทียบราคาสินค้ายี่ห้อเดียวกัน ของชิ้นเล็กกว่ามักจะมีราคาที่แพงกว่าของชิ้นใหญ่ค่ะ เวลาซื้อของเราจะได้ดูง่ายๆว่าซื้อของชิ้นไหนคุ้มค่าและตอบโจทย์เรามากกว่ากัน 

ซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้ถูกที่สุดเสมอไป ยังมีร้านขายยา / Asian Grocery  / Costco เป็นตัวเลือกด้วย
สินค้าบางชนิด เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน เครื่องอาบน้ำ ครีมบำรุงต่างๆ รวมถึงอาหารเสริม จะมีขายที่ร้านขายยา เช่น Chemist Warehouse หรือ Priceline ด้วยเช่นกัน 
หรือสินค้าประเภท อาหารแห้ง เครื่องปรุง ผงปรุงรส น้ำซอส ผัก ผลไม้ หรือแม้แต่เนื้อสัตว์สดและแช่แข็งที่ขายใน Asian Grocery มีทั้งแบบสินค้าที่กำลังจัดโปรโมชั่น และแบบราคาปกติที่ถูกกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตก็มี  ส่วน Costco จะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ต้องเสียค่าสมาชิกรายปีเพื่อเข้าไปซื้อของ แต่ของหลายๆอย่างที่นี่ก็มีถูกกว่าที่อื่นเหมือนกันค่ะ ซื้อของที่นี่รวมๆกันอาจจะคุัมกว่าค่าสมาชิกที่จ่ายไปก็ได้ค่ะ

ช้อปปิ้งตลาดสด
ตลาดสดจะมีทั้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ มาขาย ซึ่งสินค้าบางอย่างที่นี่อาจจะมีของที่คุณภาพไม่เท่าหรือไม่สดเท่าของขึ้นห้างแต่ก็มีราคาที่ถูกมาก บางอย่างถูกกว่าเกิน 2-3 เท่าของราคาในห้าง ยิ่งถ้าตอนที่ตลาดใกล้จะวาย พ่อค้าแม่ค้าจะมาตะโกนเลของขายแบบเหมาขายยกถุงหรือยกกล่อง 1-5 AUD ก็มีค่ะ

เทียบราคาสินค้าออนไลน์
แม้แต่ในซูเปอร์มาเก็ต เช่น Coles / Woolworths / Aldi / Chemist Warehouse / Priceline  / Costco สินค้าชนิดเดียวกัน (และไม่ได้อยู่ในช่วงโปรโมชั่นเหมือนกัน) ก็อาจมีแตกต่างกันออกไปค่ะ เราสามารถเสิร์ชราคาสินค้าที่ต้องการจากเว็บไซต์ของแต่ละยี่ห้อเพื่อเปรียบเทียบก่อนซื้อได้เลยค่ะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปดูด้วยตาตัวเองค่ะ

สินค้าแบรนด์ Coles และ Woolworths ราคาถูกกว่าแบรนด์ตลาดทั่วไป
Coles และ Woolworths เองมีสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง จะคล้ายๆกับ Big C หรือ Lotus ที่ไทย และมีราคาที่ถูกกว่าแบรนด์ตลาดทั่วไปมาก มีเกือบทุกอย่างตั้งแต่ ข้าวสาร อาหารสด อาหารแห้ง สิ่งของเครื่องใช้ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน สบู่ น้ำยาซักผ้า ฯลฯ ของบางอย่างถูกกว่าแบรนด์ตลาดที่กำลังจัดโปรโมชั่นลดราคา 50% อีกค่ะ ซึ่งเค้าขายราคาถูกตลอดทั้งปีไม่มีช่วงโปรโมชั่น

สมัครบัตรสะสมแต้ม Flybuys และ Everyday Rewards
ยังอยู่ที่ Coles และ Woolworths เหมือนเดิมค่ะในข้อนี้ ถ้าเราชอบซื้อของจากสองที่นี้บ่อยๆแนะนำให้สมัครบัตรสะสมแต้มไว้ด้วยค่ะ ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถนำแต้มที่สะสมไว้จากการใช้จ่ายไปเป็นส่วนลดในการซื้อของรอบถัดไปได้ค่ะ

สินค้า Quick Sale และ Clearance
ตอนดึกที่ซูเปอร์มาเก็ตใกล้จะปิด มักจะมีสินค้า Quick Sale มาขาย ลองดูวันหมดอายุและสภาพสินค้า ถ้าเรารับได้ก็จะได้ราคาที่ถูกกว่าราคาปกติพอสวร ส่วนของโล๊ะสต๊อก Clearance ก็มักจะวางไว้ที่เชลฟ์รวมๆกันไว้หลายอย่าง ถ้ามีที่ถูกใจก็ซื้อกลับไปได้ค่ะ ราคาจะถูกกว่าราคาปกติพอสมควร

พกถุงพลาสติก/ถุงผ้าเวลาไปซื้อของ
ร้านค้าทั่วไปรวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตที่นี่ถ้าเราไม่นำถุงพลาสติกไปใส่ของเองเค้ามักจะชาร์จราคาค่าถุงพลาสติกเพิ่ม ไม่ได้แถมให้ฟรีเหมือนร้านค้าหลายๆแห่งที่ไทย เพื่อตอบสนองนโยบายรักษ์โลกของรัฐบาลที่ผลักดันให้ลดขยะพลาสติกและให้คนให้นำถุงพลาสติกเดิมกลับมาใช้ใหม่

ไก่อบทั้งตัวราคาแค่ 6.99 AUD
ไก่อบทั้งตัวที่ Costco แบบพร้อมกินทันทีไม่ต้องเสียเวลาทำอาหาร ราคาแค่ 6.99 AUD ต่อตัว หรือถ้าใครไม่ได้เป็นสมาชิกของที่นี่ ที่ Coles / Woolworths ก็มีขายไก่อบทั้งตัวเหมือนกันแต่ราคาจะสูงกว่านะคะ ราคาประมาณ 11-12 AUD ต่อตัว ถ้าตกดึกหน่อยสัก 2-4 ทุ่มแล้วไก่อบยังขายไม่หมดพนักงานก็จะมาติดป้าย Quick Sale ลดราคา 30-50% ด้วย แต่พักหลังๆที่ค่าครองชีพสูงขึ้น คนซื้อไก่อบกันเยอะขึ้นมักจะขายหมดตั้งแต่ช่วงเย็นๆไม่ค่อยจะเหลือให้ถึงตอนที่ลดราคา ซึ่งไก่ทั้งตัวก็กินได้หลายมื้อ ถ้าไปซื้อข้าวตามร้านอาหารขั้นต่ำก็มื้อละ 15-20 AUD นอกจากไก่อบทั้งตัวแล้ว ที่ฟู้ดคอร์ทของ Costco มีขาย Hot Dog พร้อมน้ำอัดลมในราคาเพียงแค่ 1.99 AUD และ Pizza ชิ้นละ 2.99 AUD หรือ ถาดละ 15.99 AUD ค่ะ

เขย่าแอพลุ้นโปรโมชั่น Mobile Application ของ Hungry Jack’s
ใครที่ชอบกินเบอร์เกอร์ ลองโหลด mobile application ของ Hungry Jack’s ร้านขายเบอร์เกอร์เจ้าดัง (แบรนด์เดียวกับ Burger King ที่ไทย) มาเพื่อเล่นเกมเขย่าลุ้นโปรโมชั่นได้ทุกวันเลยค่ะ นอกจากนี้เขายังมีขาย BBQ Cheeseburger 2.5 AUD ด้วยค่ะ อย่างไรก็ตามกินอาหารอย่าลืมคำนึงถึงสุขภาพด้วยและอย่าลืมกินอาหารให้ครบ 5 หมู่นะคะ

กาแฟ 2 AUD
สำหรับคนที่ชอบดื่มกาแฟแต่มีงบจำกัด ที่ 7-11 มีขายกาแฟแก้วละ 2 AUD ค่ะ

รู้จักป้าย free tram zone ถ้าออกนอกโซนอย่าลืมแตะบัตร
ที่ 
Melbourne และ Adelaide เราสามารถเดินทางด้วยแทรมในเขต free tram zone โดยไม่ต้องเสียค่าเดินทาง (ส่วน Sydney ไม่มีฟรีโซนนะคะ เน้นเดินเอาแทนถ้าเป็นไปได้) ถ้าเราไม่รู้จักว่าป้ายไหนฟรีแล้วเผลอขึ้น-ลงนอกป้ายฟรีอาจจะโดนปรับเงินได้ 200 – 500 AUD และทุกครั้งที่ออกนอกฟรีโซนต้องไม่ลืมแตะบัตรเดินทางด้วยนะคะ

สร้างนิสัยการเดิน
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่เหมาะกับการเดินเท้าเป็นอย่างมาก ไม่ค่อยมีหลุมมีบ่อ มีแสงไฟสว่างส่องถึง อากาศเป็นมิตร มลภาวะไม่ค่อยมี ถือว่าค่อนข้างปลอดภัยในการเดินเท้า ถ้าจุดมุ่งหมายไม่ได้อยู่ไกลมากหันมาเดินทางด้วยการเดินแทนนะคะ การเดินบ่อยๆนอกจากจะประหยัดค่าเดินทางแล้วยังได้เป็นการออกกำลังกายอีกด้วยค่ะ สำหรับที่ Melbourne และ Adelaide ที่มี free tram zone ก็อาจจะลองดูว่าสถานที่ๆจะไปอยู่นอก free tram zone ไปไกลหรือไม่ ถ้าไม่ไกลมากก็ลงสถานีสุดท้ายที่เป็น free tram zone แล้วเดินต่อเอาก็ได้ค่ะ 

ใช้บัตรเดินทางรายเดือนแทนรายวัน
ลองคำนวณค่าเดินทางต่อสัปดาห์หรือต่อเดือนดูค่ะถ้าเกิดว่าต้องเดินทางบ่อยๆแล้วต้องเสียค่าเดินทางตลอดลองดูราคาบัตรเดินทางรายเดือนอาจจะถูกกว่ารายเที่ยวก็ได้ค่ะ

เดินทางหลายคน ใช้บริการ Uber / Didi หารกันอาจจะถูกกว่า
ถ้าเกิดเดินทางหลายคนลองคำนวณดูค่ะว่าค่าโดยสารรถสาธารณะแพงกว่าเรียกบริการ Uber / Didi หรือไม่ ถ้านั่งรถไฟคนละ 5 AUD ไปด้วยกัน 4 คน เลือกนั่ง Uber / Didi ค่าโดยสารอาจจะแค่ 12-16 AUD หารกันก็เหลือแค่คนละ 3-4 AUD ค่ะ แถมยังส่งถึงบ้านเลยและยังเลือกหลาย stop ได้อีกด้วย

พิจารณาเลือกที่พักที่ไม่ใช่ CBD
ในเมืองแบบ CBD ค่าเช่าจะแพงกว่านอกเมืองมากๆค่ะ ถ้าอยากประหยัดหน่อยลองดูบ้านเช่าที่ไกลออกไปจาก CBD มักจะมีราคาที่ถูกลงเยอะแถมได้ความเป็นส่วนตัวเพิ่มด้วยค่ะ แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักด้วยนะคะว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือร้านค้าบริเวณนั้นไหม ติดสถานีรถสาธราณะหรือไม่ ใช้เวลาเดินทางนานเกินไปหรือไม่ รอบรถมาถี่ขนาดไหน ต้องขึ้นรถกี่ต่อ อยู่ใกล้กับที่ทำงานหรือที่เรียนหรือไม่ อาจจะต้องเสียค่าเดินทางแพงกว่าส่วนต่างค่าเช่าที่ย้ายออกมาอยู่นอกเมืองได้ค่ะ

ไซน์บ้านเช่าเอง
ถ้าใครที่เช่าบ้านที่แชร์กับคนอื่น ลองเปรียบเทียบราคาค่าเช่าปัจจุบันกับการไปย้ายออกไซน์บ้านเช่าด้วยตัวเองกับเอเจนท์โดยตรงดูนะคะ 
ไซน์อยู่เองแชร์กับเพื่อนๆ 2-4 คน อาจจะได้ราคาที่ถูกกว่าก็ได้ และอาจจะตรงกับความต้องการมากกว่า มีอิสระมากกว่า ได้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า แต่ตอนที่เปรียบเทียบราคาค่าเช่าห้องอย่าลืมคำนวณ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าแก๊ส ด้วยนะคะ การไซน์บ้านเช่าเองมักจะต้องมีหลักฐานการเงินที่ค่อนข้างแข็งแรงเพื่อที่จะให้เอเจนท์หรือผู้ปล่อยเช่ามั่นใจว่าเรามีเงินเพียงพอต่อการจ่ายค่าเช่าตลอดทั้งสัญญาจริงหรือไม่ค่ะ
https://www.realestate.com.au/rent/
https://www.domain.com.au/?mode=rent

เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป
ถ้าเป็นของใช้ในบ้านหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ห้างเช่น Kmart / Target / IKEA / Bunnigs / Kogan มีขายของราคาไม่สูงมาก ของบางอย่างหน้าตาอาจจะไม่ได้ดูหรูหรามากนัก แต่คุณภาพและการใช้งานถือว่าพอใช้ได้ ยิ่งถ้าใครมาอยู่ออสเตรเลียด้วยวีซ่าชั่วคราวแล้วบางครั้งการซื้อของที่มีฟังชั่นการใช้งานได้ใกล้เคียงกันแต่ได้ราคาที่ถูกกว่าพอสมควร ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็ได้ค่ะ เพราะของส่วนมากถ้าเราขายต่อราคาจะตกเกินครึ่งเลยค่ะ

ซื้อของใช้และเฟอร์นิเจอร์มือสอง
ถ้าอยากได้ของอะไร ลองหาใน Facebook Marketplace หรือ กลุ่มซื้อขายต่างๆ ดูก่อนได้นะคะ คนที่นี่เวลาขายของมือสองขายแบบลดแลกแจกแถมอย่างกับให้ฟรีก็มีค่ะ ราคาตกจากมือหนึ่งมาเกินครึ่ง บางคนต้องการย้ายบ้านขนไปไม่ไหวก็เลือกที่จะขายเอาแทน หรือบางคนต้องกลับประเทศแบบเร่งด่วนลยรีบระบายของให้เร็วที่สุดก็มีค่ะ อยากซื้อของอะไรลองโพสรับซื้อในกลุ่มดูก่อนก็จะได้ค่ะบางคนเค้าก็อยากขายแต่ไม่มีเวลาโพสขาย แต่จะซื้อของจากใคร นัดเจอรับของ/จ่ายเงินด้วยตัวเองเป็นดีที่สุดค่ะป้องกันการโดนโกง หรือถ้ามีโอกาสสามารถลองแวะไปดูที่จุดบริจาคของบริเวณที่เราพักอาศัยอยู่บ่อยๆเพราะ มีคนเอาทั้ง เสื้อผ้า สิ่งของ ทีวี เฟอร์นิเจอร์ สภาพที่ยังใช้ได้มาบริจาคไว้ค่ะ

Price Matching และ Click & Collect
ถ้าเราทำการเทียบราคาสินค้าแล้วร้าน A ถูกกว่าร้าน B แต่ไม่สะดวกเดินทางไปที่ร้าน A ด้วยตัวเอง ประเทศนี้จะมีการแข่งขันทางการค้าที่เป็นการขายในราคาที่เท่ากันกับร้านคู่แข่ง ให้เราเดินไปคุยกับพนักงานขายของร้าน B แล้วบอกว่าที่ร้าน A ขายของแบบเดียวกันอยุ่บนเว็บไซต์ที่ราคาถูกกว่า เราอาจจะโชว์หน้าจอมือถือที่เข้าเว็บไซต์และราคาของร้าน A ประกอบไปด้วย พนักงานเขาอาจจะลดราคาให้เป็นราคาเท่ากันก็ได้ค่ะ โดยร้านที่มักจะมีนโยบาย Price Matching ก็จะเป็นพวกร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า เทคโนโลยี เช่น JB Hi-Fi / Officeworks / Harvey Norman ค่ะ ในส่วนของ Click & Collect ถ้าเราซื้อของออนไลน์แล้วเลือกไปรับเองที่ร้านค้าก็จะได้ประหยัดค่าส่งสินค้าได้ค่ะ

Refund Policy
ซื้อของผิดสเปค ไปเจออีกร้านราคาถูกกว่า สินค้ามีตำหนิ เปลี่ยนใจไม่อยากได้แล้ว ไปเจอของที่ดีกว่า ฯลฯ สินค้าหลายชนิดที่ประเทศนี้สามารถของทำเรื่องรีฟันด์คืนสินค้าเพื่อขอคืนเงินเต็มจำนวนได้ค่ะ (ปกติภายใน 7-30 วันและต้องมีใบเสร็จด้วย) บางคนที่ไม่รู้ว่าคืนสินค้าได้ก็อาจจะเอาไปขายต่อมือสองแทนได้เงินกลับมาเพียงแค่ส่วนเดียว ดังนั้นลองสอบถามร้านค้าก่อนได้ค่ะว่าทำเรื่องรีฟันด์ได้หรือไม่

บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลขายคืนรัฐบาลได้ขวด 10 Cent
บรรจุภัณฑ์ต่างๆเช่น ขวดพลาสติก อนูมิเนียม แก้ว ที่มีฉลากกำกับว่า 10c มักจะอยู่ใกล้ๆกับบาร์โค้ด สามารถนำไปขายคืนให้รัฐบาลในบางรัฐได้ในราคาอันละ 10 เซนต์ ค่ะ ลองเช็คข้อมูลในรัฐที่เราอาศัยอยู่นะคะว่ามีรับซื้อคืนหรือไม่และรับซื้อที่ไหน 

ฝากเงินในบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยสูง
นอกจากมาใช้วีชิตในต่างประเทศที่ค่าครองชีพสูงทำให้ต้องประหยัดค่าใชจ่ายแล้วเรายังต้องหารายได้เพิ่มอีกด้วย ในปี 2023 – 2024 รัฐบาลออสเตรเลียปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้จากธนาคาร ใครที่มีเงินเก็บที่อยู่ในรูปแบบเงินสดหรือบัญชีออมทรัพย์หรือ everyday account ที่ได้ดอกเบี้ย 0-2% และไม่ได้มีความสนใจที่จะนำเงินไปลงทุน ลองเปลี่ยนเป็นฝากเงินในบัญชีที่ให้ดอกเบี้ย 4-5% ต่อปี หรือลองหาธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าเราใช้อยู่ปัจจุบันแทนนะคะ ตัวอย่างธนาคาร ANZ Plus ตอนนี้บัญชีออมทรัพย์ให้ดอกเบี้ยที่ 4.95% ต่อปี โดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นฝากประจำหรือมียอดฝากขั้นต่ำ ถ้าฝากเงิน 10,000 AUD ไว้หนึ่งปีเราก็จะได้ดอกเบี้ย 495 AUD ค่ะ (ก่อนเสียภาษี) ซึ่งดอกเบี้ยเงินฝากนี้ได้สูงกว่าที่ไทยในตอนนี้อย่างมาก (Feb 2024)

รู้ทันหลุมพรางคนมิจฉาชีพ
มีมิจฉาชีพแฝงตัวในกลุ่มต่างๆมากมายในกลุ่มเฟซบุ๊ค โดยเฉพาะกลุ่มซื้อขาย พวกนี้จะมาในรูปแบบหลากหลาย เช่น ขายของแล้วให้เราโอนเงินให้ก่อน หรือ รับแลกเงิน ทั้งโกงเองตรงๆ หรือมาในรูปแบบการโกงแบบ A B C  ก็มี แล้วก็ที่นี่ยังมีพวก SMS / Email ปลอม หลอกให้กดลิงก์และกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือพวกแก๊ง Call Center โทรมาหลอกเราว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากรัฐบาล คล้ายกับที่ไทยเลยค่ะ บางคนโดนหลอกว่าคุณกำลังมีปัญหาเรื่องวีซ่าถ้าไม่รีบติดต่อกลับมาตอนนี้จะยกเลิกวีซ่าก็มีค่ะ

เลือกทำกิจกรรมในวัน/เวลาที่มีราคาโปรโมชั่น หรือ off-peak
ก่อนจะทำกิจกรรมอะไรอยากให้ลองเข้าเว็บไซต์ของเค้าเข้าไปดูว่าวันไหนมีราคาพิเศษหรือไม่ เช่นปกติแล้ววันอังคารตั๋งโรงหนังจะถูกที่สุดในรอบสัปดาห์ บางที่ถ้าเป็นวันหยุดพิเศษหรือช่วงเวลาพีคไทม์ก็อาจจะแพงกว่าเวลาอื่นๆ

สิทธิประโยช์จากบัตรนักเรียนหรือวีซ่านักเรียน
ถ้ากำลังเรียนหนังสืออยู่หรือถือวีซ่านักเรียน บัตรนักเรียนของเราสามารถในไปใช้เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์ได้มากมายค่ะ เช่น ลดราคาค่าตั๋วเข้าชมสถานที่ต่างๆ ซื้อของได้ในราคาถูกกว่า เข้าชมพิพิธภัณฑ์บางแห่งฟรี บางรัฐใชับัตรนักเรียนเพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนค่าเดินทางสาธารณะได้ด้วย ดังนั้นก่อนจะซื้ออะไรหรือไปเที่ยวที่ไหนอะไรลองตรวจสอบสิทธิพิเศษดูก่อนนะคะว่าบัตรนักเรียนใช้ลดอะไรได้บ้างหรือไม่

รีบจ่ายค่าปรับหรือค่าบริการต่างๆก่อนเลยกำหนดชำระ
ค่าปรับที่เนื่องมาจากการจ่ายล่าช้าที่ออสเตรเลียแพงมาก เผลอจ่ายช้าไปวันเดียวอาจจะโดนให้จ่ายเพิ่มหลักสิบหลักร้อยเหรียญเลยค่ะ ดังนั้นถ้ากลัวลืมจ่ายให้ตั้งแจ้งเตือนล่วงหน้าไว้หรือถ้าใครจ่ายได้ให้จ่ายก่อนถึงกำหนดได้เลยค่ะ

ซื้อเสื้อผ้านอกฤดูกาล หรือ ลองดูที่ Outlet
ใครที่เป็นสายแฟชั่นชอบซื้อเสื้อผ้าแนะนำให้เลือกซื้อเสื้อผ้านอกฤดูกาลมักจะได้ราคาที่ถูกกว่า เช่น ซื้อเสื้อกันหนาวในฤดูร้อน หรือเสื้อผ้าผ้าบางๆในฤดูหนาวแทน เพราะจะเป็นช่วงที่คนซื้อเสื้อผ้าเหล่านั้นไม่เยอะและร้านค้าต้องการจัดโปรโมชั่นเพิ่มยอดขาย ส่วนถ้าใครมีแบรนด์ในใจรุ่นในใจที่ชอบอยู่แล้วลองไปเดินดูของที่ outlet เช่น DFO ได้ค่ะ มีของลดราคาให้เลือกเยอะแยะมากมาย

รอช้อปปิ้งช่วง EOFY / BF / Boxing day จะถูกกว่ามาก
นอกจากชอบปิ้งนอกฤดูกาลแล้ว อยากให้ลองดูว่าเป็นช่วงเวลาที่ใกล้กับ End of financial year (30 June) / Black Friday (late Nov) / Boxing day (26 Dec) หรือไม่ เป็นช่วงคนที่ชาวออสซี่จะรอซิ้อของกันช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่ของลดราคาเยอะมากที่สุดในรอบปีโดยลดราคามากถึง 20-80%

ค่าบริการ Bank Account Fee ของธนาคาร
ตัวอย่างเช่น Commonwealth Bank of Australia บัญชี Everyday Smart Access สำหรับวีซ่านักเรียนที่อายุไม่เกิน 30 ปี จะไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบัญชีรายเดือนของธนคาร แต่ถ้าอายุเกิน 30 ปีแล้วหรือถือวีซ่าชนิดอื่นๆ และถ้าฝากเงินไม่ถึง 2,000 AUD ต่อเดือน จะมีค่าธรรมเนียม 4 AUD ต่อเดือน แต่ถ้าฝากเงินมากกว่า 2,000 AUD ต่อเดือนก็จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ดังนั้นถ้าเรารู้เงื่อนไขของธนาคารที่เราใช้ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมบัญชีรายเดือน หรือเลือกเปลี่ยนไปใช้ธนาคารที่เราไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมได้ค่ะ

ถอนเงินเกินบัญชี ไม่โอนคืนภายในเที่ยงคืนโดนปรับ
บางธนาคารเช่น Commonwealth Bank of Australia อนุญาตให้เราตัดเงินจากบัตรเกินเงินยอดเงินในบัญชีได้ บริการนี้เรียกว่า Overdraw feature แต่มีเงื่อนไขคือต้องโอนเงินกลับเข้าไปในบัตรให้ยอดไม่ติดลบภายในเที่ยงคืน ถ้าโอนเงินกลับเข้าไปไม่ทันเที่ยงคืน (เวลา Syd/Mel) ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียม 15 AUD ไม่รวมดอกเบี้ย ใครไม่ชอบฟีเจอร์นี้สามารถปิดการใช้งานได้ที่ mobile application ของ Commonwealth Bank of Australia ค่ะ

ร้านตัดผมแบบไม่แพงก็มีหรือจะตัดผมเองก็ได้
สำหรับผู้ชายที่ไม่ได้ตัดผมทรงแฟชั่นมาก ในเมืองมักจะมีร้านตัดผมที่เหมือนกับบาร์เบอร์ที่ไทย ราคา 15-20 AUD ต่อครั้ง หรือจะซื้อปัตตาเลี่ยนมาไว้ที่บ้านให้เพื่อนหรือแฟนตัดให้ก็ได้ค่ะ เครื่องนึงราคาไม่เกิน 50 AUD 

ยิมฟรีในตึกที่พักหรือตามสวนสาธารณะ
ผู้ที่ต้องการเข้ายิมเพื่อออกกำลังกายลองดูว่าตึกที่พักของเรามียิมให้ใช้บริการฟรีหรือไม่ ตึกใหญ่ๆในเมืองมักจะมีทั้งยิมและสระว่ายน้ำให้ใช้ฟรีสำหรับผู้พักอาศัยค่ะ นอกจากที่พักแล้วที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยบางแห่งก็มีให้ใช้ฟรีเช่นกันค่ะ หรือใครไม่มีทั้งสองอย่างลองดูตามสวนสาธารณะบางแห่งก็มีให้บริการฟรีนะคะ

ใช้งานและแก้ไขไฟล์ Microsoft Office ผ่าน Gmail
สำหรับใครที่ไม่มี license ของ Microsoft Office สำหรับใช้เรียนหนังสือหรือทำการบ้าน สามารถ login เข้า Gmail แล้วใช้ฟังชั่น Google Docs (Microsoft Word) / Sheets (Microsoft Excel) / Slides (Microsoft Powerpoint) ได้ค่ะ


เป็นอย่างไรบ้างคะตรงกับไลฟ์สไตล์ของน้องๆกันกี่ข้อ หวังว่าคำแนะนำหลายๆข้อจะเป็นประโยชน์กับน้องๆนะคะ ส่วนใครที่มีเทคนิคอื่นๆอีกก็มาช่วยกันแนะนำให้เพื่อนๆเพิ่มเติมกันได้ค่ะ